Visual Examination (VT) การตรวจพินิจ หรือ การตรวจสอบด้วยสายตา เป็นการใช้สายตาพิจารณาสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพื่อหาสิ่งผิดปกติที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ที่ทำการตรวจสอบ การตรวจพินิจ เป็นพื้นฐานของการตรวจสอบ แบบไม่ทำลายวิธีการอื่น เช่น การตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยสายตา ผลพบว่าไม่ผ่านตามข้อกำหนด ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบหารอยความไม่ต่อเนื่องที่ผิวและใต้ผิวด้วยวิธีการอื่น เพื่อพิจารณาขนาดรอยความไม่ต่อเนื่องให้ชัดเจนขึ้น การตรวจพินิจ ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเป็นวิธีการตรวจพื้นฐานเพื่อพิจารณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ เช่น การตรวจสอบความสมบูรณ์เรียบร้อยของบรรจุภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพผิวของชิ้นงานสำเร็จ และการตรวจสอบสี เป็นต้น การตรวจพินิจ แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ การตรวจพินิจด้วยตาเปล่า (Direct or naked eye visual examination) ภายในระยะการมองเห็นไม่เกินสองฟุต และ การตรวจพินิจผ่านอุปกรณ์ (Indirect or remote visual examination) ในจุดอับสายตา เช่น การใช้ borescope หรือ drone โดยที่คุณภาพเมื่อพิจารณาผ่านอุปกรณ์ต้องไม่ด้อยกว่าการมองด้วยตาเปล่า องค์ประกอบที่สำคัญของการตรวจพินิจ คือ แสงสว่างบริเวณที่ทำการตรวจสอบต้องเพียงพอ สายตาของผู้ทำการตรวจสอบต้องสมบูรณ์มองเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะต้องพิจารณาถึง ตำแหน่ง ขนาด ทิศทางการวางตัว ตามมาตรฐานของการตรวจสอบ ในกรณีตรวจสอบงานเชื่อม ผู้ตรวจสอบต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดงานเชื่อมตรงกับผลิตภัณฑ์ที่ทำการตรวจสอบหรือระบุไว้ตามเอกสารกำหนดของโครงการ เช่น AWS D1.1 สำหรับพิจารณาผลิตภัณฑ์งานเชื่อมโครงสร้างเหล็กกล้า ASME B31.3 สำหรับพิจารณาผลิตภัณฑ์งานเชื่อมท่อ (Process piping) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การมีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้ตรวจสอบใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม เช่น การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานภายความดัน (Pressure part) หรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้งานภายใต้ภาระกรรม (Tensile, compressive, shear, bending, or torque) นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่ช่างเชื่อมขณะทำการตรวจสอบจะช่วยลดความขัดแย้งภายหลังการตัดสินผลการตรวจสอบได้ ในกรณีการตรวจสอบโรงงาน (Plant Inspection) เช่น ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน หรือกระทั่งแท่นขุดเจาะ ผู้ตรวจสอบต้องมีประสบการณ์ เข้าใจระบบการทำงานของอุปกรณ์เป็นอย่างดี กล่าวคือ ช่างเทคนิคฝ่ายซ่อมบำรุงของโรงงานนั้นๆ หากได้รับการฝึกอบรมตามาตรฐานอย่างถูกต้อง จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบได้ดีกว่าบุคคลภายนอก โดยการมีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติ่ม เช่น ความรู้เกี่ยวกับการสึกกร่อนและกัดกร่อนจากการใช้งาน ตลอดจนผลกระทบทางความร้อน หรือความเย็นจากการใช้งาน จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการวางแผนการตรวจสอบเพื่อซ่อมบำรุง การตรวจสอบตามรอบ และการหยุดผลิตเพื่อทำการตรวจสอบครั้งใหญ่ Add Your Heading Text Here