RADIOGRAPHIC EXAMINATION (RT)
การตรวจสอบด้วยถ่ายภาพรังสี
รังสีเอ็กซ์หรือรังสีแกมม่าถูกฉายผ่านชิ้นงาน การดูดซับรังสีของชิ้นงานแตกต่างกัน ส่งผลให้รังสีตกกระทบกับฉากรับภาพรังสี (film, phosphor imaging plate, and digital detector) ปรากฏเป็นภาพแฝงขาว-ดำแตกต่างกัน มีรูปลักษณ์สอดคล้องกับรอยตำหนิทั้งพื้นผิวและภายในเนื้อชิ้นงาน ผู้แปลผลภาพถ่ายรังสีต้องเข้าใจรายละเอียดของรอยบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเกณฑ์ตัดสินยอมรับหรือปฏิเสธชิ้นงาน อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบนี้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมหาศาล หากผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี โดยเฉพาะการทวนสอบการทำหน้าที่ของเครื่องวัดรังสีส่วนบุคคล (personal dosimeter) และ Survey meter ผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถใช้ Inverse square law คำนวณปริมาณรังสีที่ระยะต่างๆ ของอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นดังกล่าวได้ หากอุปกรณ์ไม่สามารถตรวจวัดรังสีได้อย่างแม่นยำ ต้องยกเลิกการใช้ทันทีและห้ามปฏิบัติงานจนกว่าจะมีอุปกรณ์ใหม่ทดแทน นอกจากนี้ ในสถานที่ปฏิบัติงานต้องมีอุปกรณ์เก็บกู้สารกัมมันตภาพรังสี (isotope) พร้อมต่อการใช้งานตลอดเวลา ในกรณีฝึกอบรมช่างเทคนิคถ่ายภาพรังสีที่ขาดประสบการณ์ ต้องไม่ให้การรับรองระดับ 1 และ 2 ในช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ควรให้ระดับ 1 มีประสบการณ์ภาคสนามอย่างน้อย 6 เดือนก่อน จึงจะสามารถอบรมและให้การรับรองระดับ 2 ได้ อนึ่ง ในงานที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด สถานที่ถ่ายภาพรังสีต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าความปลอดภัยด้านรังสี (Radiation Safety Officer, RSO) มีเส้นกั้นเขตแดน ป้าย และสัญญาณเตือนอย่างเด่นชัด เป็นต้น
วิธีตรวจสอบนี้ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น งานหล่อ งานเชื่อม ชิ้นส่วนยานยนต์ ปั๊ม วาล์ว และความสมบูรณ์ของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไมโครชิป ต้นกำเนิดรังสีได้จาก 2 วิธี คือ 1) X-ray tube และ 2) Gamma ray (isotope) วิธีแรกได้จากจ่ายแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมไส้หลอดและเป้าทังสเตน อิเล็กตรอนชนเป้าทำให้คายความร้อนและรังสีเอ็กซ์ออกมา ตัวแปรสำคัญของวิธีนี้คือ รังสีมีพลังงานทะลุทะลวงสูงย่อมได้จากความดัน (kV) สูงด้วย สอดคล้องกับความหนาแน่นของวัสดุและความหนาของชิ้นงานเป็นหลัก และอีกตัวแปรหนึ่งคือปริมาณกระแส (mA) ของไส้หลอด ส่งผลต่อคุณภาพความคมชัดของภาพถ่ายรังสี การควบคุมฉายภาพรังสีมีเพียงปรับตั้งค่าปริมาณกระแส ระยะตั้งหลอดรังสี และเวลาเท่านั้น ส่วนต้นกำเนิดรังสีจากไอโซโทรป ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีเพียงอิริเดียม 192 เท่านั้น ซึ่งเพียงพอกับถ่ายภาพรังสีงานเหล็กและเหล็กกล้าไร้สนิมทั่วไป แม้ว่าคุณภาพความคมชัดไม่ทัดเทียมกับรังสีเอ็กซ์ เนื่องจากพลังงานต่ำกว่า แต่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายมากกว่า ความเข้มรังสีแกมม่ามีหน่วยเป็นคูรี่ ซึ่งลดลงแบบเอ็กโพเนนเชียลอย่างต่อเนื่องตามเวลา การฉายภาพรังสีจึงทำได้เพียงกำหนดระยะตั้งไอโซโทรปและเวลาเท่านั้น หากต้องการบังคับทิศทางรังสี สามารถใช้ทังสเตนคอลิมาเตอร์ได้
ฉากรับภาพกลุ่มฟิล์มพลาสติค มีองค์ประกอบหลักคือซิลเวอร์โบไมล์ ทำหน้าที่รับรังสีและเปลี่ยนเป็นโลหะเงินในกระบวนการล้างฟิล์ม ฟิล์มประเภทหนึ่ง (type I) มีขนาดเกรนเล็กละเอียด ให้ภาพคมชัดสูง แต่ต้องใช้เวลาฉายรังสีนานขึ้น ส่วนฟิล์มประเภทสอง (type II) มีขนาดเกรนหยาบกว่า แม้ความคมชัดด้อยกว่า แต่เหมาะกับงานหนาที่ต้องลดเวลาฉายรังสีลงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หากต้องการเก็บฟิล์มในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกเรียกว่า Film digitalizer กรณีฉากรับภาพกลุ่มแผ่นฟอสเฟอร์มักใช้ร่วมกับไอโซโทรป หรือ Pulse X-ray เนื่องจากความคล่องตัวในการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการฉายภาพรังสีอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่น และโรงไฟฟ้า แผ่นฟอสเฟอร์นี้เมื่อถูกฉายรังสีแล้วสามารถนำเข้าสู่เครื่องสแกนเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที สำหรับฉากรับภาพกลุ่ม Digital detector มักใช้ร่วมกับรังสีเอ็กซ์และติดตั้งกับที่ (stationary) แผ่นรับภาพรังสีนี้สามารถเปลี่ยนเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์โดยตรงตั้งแต่แรกรับรังสี เหมาะกับงานในอุตสาหกรรมการผลิต ตัวอย่างเช่น ชิ้นงานอัดฉีดขึ้นรูปอลูมินั่ม ชิ้นส่วนเหล็กกล้าไร้สนิมขนาดเล็ก และงานต้นแบบชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
การจัดองค์ประกอบฉายภาพรังสี (ต้นกำเนิดรังสี ชิ้นงาน และฉากรับภาพรังสี) ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงชิ้นงาน หรือแม้กระทั่งพื้นที่หลบเลี่ยงรังสีของผู้ปฏิบัติงาน พื้นฐานทั่วไปที่นิยมใช้ คือ Single wall single image (SWSI), Double wall single image (DWSI), and Double wall double image (DWDI) or ellipse ในแต่ละเทคนิคการจัดองค์ประกอบเหล่านี้ต้องทวนสอบค่าความไม่คมชัดของรูปร่าง (geometric un-sharpness, Ug) เลือกเส้นลวดให้สอดคล้องกับความหนาชิ้นงาน วางตัวอักษรตะกั่วไม่รบกวนบริเวณต้องการตรวจสอบ เลือกใช้แผ่นตะกั่วกั้นรังสีจากการสะท้อนด้านหลังให้เหมาะสม ใช้เวลาการฉายรังสีน้อยที่สุด สุดท้าย คุณภาพภาพถ่ายรังสีที่ยอมรับได้ต้องปรากฏเส้นลวดที่กำหนดและมีค่าความเข้ม (density) ของฟิล์มอยู่ในช่วง -15% และ +30% โดยเทียบกับความเข้มจากข้างเส้นลวด สำหรับการแปลผลและประเมินภาพถ่ายรังสีถูกอธิบายใน RI